วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

บุคคลผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญา


บุคคลผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญา




มาตรา 28 บัญญัติว่า " บุคคลเหล่านี้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล "

(1). พนักงานอัยการ
(2). ผู้เสียหาย "

                                                        1.พนักงานอัยการ

บุคคลประเภทแรกที่มาตรา 28(1) บัญญัติให้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล คือ " พนักงานอัยการ "  ซึ่งมาตรา 2(5) ได้นิยามความหมายเอาไว้ว่า  " หมายความถึงเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล ทั้งนี้จะเป็นข้าราชการในกรมอัยการ ( ปัจจุบันคือสำนักงานอัยการสูงสุด ) หรือเจ้าพนักงานอื่นผู้มีอำนาจเช่นนั้นได้ "

ตามบทนิยามความหมายของคำว่า " พนักงานอัยการ " ในมาตรา 2(5) ดังกล่าว บุคคลที่กฏหมายบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลในฐานะเป็น " พนักงานอัยการ " ตามมาตรา 28(1) นั้น หมายถึงเจ้าพนักงานดังต่อไปนี้ คือ

(ก) ข้าราชการในกรมอัยการ และ
(ข) เจ้าพนักงานอื่นผู้มีอำนาจเช่นนั้น

สำหรับคำว่า " ข้าราชการในกรมอัยการ " นั้น ในปัจจุบัน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 วรรคห้า บัญญัติให้องค์กรอัยการเป็น องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ มีหน่วยงานธุรการที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณและการดำเนินการอื่นๆ โดยมีอัยการสูงสุดเป็นผู้บังคับบัญชา ทั้งนี้ตามที่กฏหมายบัญญัติและตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า องค์กรอัยการประกอบด้วย ก.อ. ( คณะกรรมการอัยการตามกฏหมายว่าด้วยระเบียบพนักงานอัยการ ) อัยการสูงสุด และพนักงานอัยการอื่น โดยมีสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นหน่อยธุรการ และมาตรา 7 วรรคสอง ส่วนมาตรา 7วรรคสาม บัญญัติว่า ข้าราชการฝ่ายอัยการซึ่งตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 6 แบ่งออกเป็นข้าราชฝ่ายอัยการ ประเภทหนึ่ง และ ข้าราชการธุรการ อีกประเภทหนึ่ง ให้สังกัดสำนักงานอัยการสูงสุด มาตรา 11 ส่วนอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการเฉพาะที่เกี่ยวกับในคดีอาญานั้น มาตรา 14(2) กำหนดให้พนักงายอัยการมีอำนาจและหน้าที่ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา และตามกฏหมายอื่นซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจและหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการ สำหรับเขตอำนาจของพนักงานอัยการ มาตรา 15 บัญญัติว่า อัยการสูงสุดและรองอัยการสูงสุดมีอำนาจดำเนินคดีได้ทุกศาล อธิบดีอัยการภาคมีอำนาจดำเนินคดีได้ทุกศาลภายในภาค พนักงานอัยการผู้อื่นมีอำนาจดำเนินคดีได้เฉพาะศาลแห่งท้องที่ที่พนักงานอัยการผู้นั้นรับราชการประจำื เว้นแต่

(1) เมื่ออัยการสูงสุดมีคำสั่งให้พนักงานอัยการซึ่งรับราชการประจำในท้องที่หนึ่ง ไปช่วยราชการในอีกท้องที่หนึ่งชั่วคราว หรือให้ไปดำเนินคดีเฉพาะเรื่อง หรือเมื่ออธิบดีอัยการภาคได้มีคำสั่งให้พนักงานอัยการซึ่งรับราชการประจำในท้องที่หนึ่งภายในภาคไปช่วยราชการในอีกท้องที่หนึ่งชั่วคราว หรือให้ไปดำเนินคดีเฉพาะเรื่องภายในภาค ให้พนักงานอัยการผู้นั้นมีอำนาจดำเนินคดีในศาลประจำท้องที่นั้นได้ และให้มีอำนาจดำเนินคดีได้ตลอดถึงศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา หรือ ศาลปกครองสูงสุดแล้วแต่กรณี

(2) เมื่ออธิบดีอัยการภาคมีคำสั่งให้พนักงานอัยการซึ่งรับราชการประจำในภาคมีอำนาจดำเนินคดีทุกศาลภายในภาค ให้พนักงานอัยการผู้นั้นมีอำนาจดำเนินคดีในศาลทุกศาลภายในภาคนั้นได้ และให้มีอำนาจดำเนินคดีได้ตลอดถึงศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา หรือ ศาลปกครองสูงสุด แล้วแต่กรณี

(3) เมื่อคดีที่พนักงานอัยการได้ดำเนินไว้ในศาลชั้นต้นขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ หรือ ศาลฎีกา พนักงานอัยการผู้ดำเนินคดีนั้น หือพนักงานอัยการผู้อื่นซึ่งประจำศาลชั้นต้นนั้น หรือ พนักงานอัยการอื่นซึ่งได้รับแต่งตั้้งหรือได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดมีอำนาจในการดำเนินคดีในชั้นอุทธรณ์หรือชั้นฎีกาได้

(4) ในคดีที่ศาลส่งประเด็นสืบพยานไปยังศาลอื่น หรือ โอนคดีไปพิจารณายังศาลอื่น พนักงานอัยการประจำศาลอื่นนั้น หรือพนักงานอัยการผู้ดำเนินคดีมาแต่ต้น หรือพนักงานอัยการซึ่งประจำศาลที่ดำเนินคดีมาแต่ต้น มีอำนาจดำเนินคดีนั้น ในศาลที่สืบพยานตามประเด็น หรือศาลที่รับโอนคดีนั้น

ส่วนมาตรา 16 บัญญัติถึงอำนาจพิเศษของพนักงานอัยการในการปฏิบัติหน้าที่ว่าในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่เฉพาะในคดีที่ต้องตั้งต้นที่พนักงานอัยการ หรือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการตาม รัฐธรรมนูญหรือตามกฏหมายอื่นใด ให้พนักงานอัยการมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน เอกสารหรือวัตถุ และดำเนินการอื่นตามที่เห็นสมควร รวมทั้งอาจแจ้งให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ทั้งนี้ ถ้าผู้ที่ได้รับคำสั่งนั้นเป็นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือเป็นผู้ถูกกล่าวหา บุคคลดังกล่าวจะไม่มาหรือไม่ให้ถ้อยคำหรือ ไม่ส่งพยานหลักฐาน เอกสารหรือวัตถุตามที่เรียกก็ได้

สำหรับอำนาจในการสอบสวนคดีอาญานั้น มาตรา 17 บัญญัติว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการในกรณีที่กฏหมายกำหนดให้อำนาจและหน้าที่ในการสอบสวนคดีอาญาซึ่งมิใช่การร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวนหรือร่วมทำสำนวนสอบสวนกับพนักงานสอบสวน ให้พนักงานอัยการมีอำนาจและหน้าที่ในการสอบสวนเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน ทั้งนี้ ให้พนักงานอัยการเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่และมีอำนาจหน้าที่ตามกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยในการค้น การจับ และการคุมขัง อาจร่วมกับเจ้าพนักงานตำรวจ หรือเจ้าพนกังานอื่น หรือแจ้งให้พนักงานตำรวจ หรือเจ้าพนักงานอื่นดำเนินการก็ได้

ส่วนคำว่า " เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจเช่นนั้น " ในมาตรา 2(5) นั้นหมายความถึง เจ้าพนักงานอื่นผู้มีอำนาจฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับบทบัญญัติของกฏหมายที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษให้เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลได้ เช่น ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บิโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง และมาตรา 39 วรรคสอง ดังนั้น เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคที่คณะกรรมการแต่งตั้งขึ้นตามกฏหมายพิเศษฉบับนี้จึงถือได้ว่าเป็น " เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจเช่นนั้น " และย่อมมีฐานะเป็น " พนักงานอัยการ "


* พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการในฐานะผู้ให้ประกันมีอำนาจฟ้องนายประกันเพื่อบังคับตามสัญญาประกันได้ 

อนึ่งเกี่ยวกับกรณีการฟ้องบังคับตามสัญญาประกันตัวผู้ต้องหา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 106 และ มาตรา 113 นั้น หากผู้ประกันผิดสัญญาประกันกับพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี ย่อมมีอำนาจฟ้องบังคับตามสัญญาประกันได้  แม้ตำแหน่งพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจะไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลก็ตาม


คำพิพากษาฎีกาที่ 7930/2544 แม้พนักงานสอบสวนจะไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่ก็เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งโดยตำแหน่งหน้าที่ราชการอันกฏหมายกำหนดไว้ให้มีอำนาจทำสัญญาประกันได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 106 และ 113 ฉะนั้น จึงย่อมมีอำนาจที่จะฟ้องขอให้บังคับตามสัญญาประกันในฐานะเจ้าพนักงานตามอำนาจแห่งหน้าที่โดยชื่อตำแหน่งหน้าที่ของตน ดังนี้ เมื่อจำเลยทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาไปจากการควบคุมของเจ้าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร บ.ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 112 และจำเลยผิดสัญญาประกันดังกล่าว พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร บ. ย่อมมีอำนาจเป็นโจทย์ฟ้องจำเลยตามสัญญาประกันได้  *กรมตำรวจไม่ใช่พนักงานสอบสวนและมิได้เป็นคู่สัญญากับจำเลย จะฟ้องเองหรือมอบอำนาจให้ฟ้องหาได้ไม่



                                                    2. ผู้เสียหาย


สำหรับบุคคลประเภทที่ 2 ที่มาตรา 28(2) บัญญัติให้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล คือ " ผู้เสียหาย " นั้น หมายวามรวมทั้งผู้เสียหายโดยตรงและบุคคลผู้มีอำนาจจัดการแทนตามมาตรา 4, 5 และ 6 ด้วย ดังที่บัญญัติไว้ในบทนิยามความหมายในมาตรา 2 (4) ทั้งนี้เพราะมาตรา 3(2) ก็บัญญัติให้บุคคลดั่งระบุไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6 มีอำนาจ " เป็นโจทย์ฟ้องคดีอาญาหรือเข้าร่วมเป็นโจทย์กับพนักงานอัยการ "
และมาตรา 3(3) ก็บัญญัติให้มีอำนาจ " เป็นโจทย์ฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา " ด้วย


*อำนาจฟ้องคดีของผู้เยาว์และผู้ไร้ความสามารถและการแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถ 




ป.วิ.อ. มาตรา 5 และมาตรา 6 ได้บัญญัติกำหนดตัวบุคคลผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เยาว์และผู้ไร้ความสามารถไว้โดยเฉพาะแล้ว ดังนั้น ผู้เยาว์ซึ่งเป็นผู้เสียหายแม้ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก็ไม่สามารถยื่นฟ้องคดีอาญาหรือเข้าร่วมเป็นโจทย์กับพนักงานอัยการตามมาตรา 30 ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 563/2517  ผู้เยาว์แม้จะได้รับความยินยอมจากบิดา ก็ไม่สามารถเข้าเป็นโจทย์ร่วมฟ้องคดีอาญาได้

*ศาลชอบจะสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถในการดำเนินคดีของคู่ความเสียก่อน เว้นแต่กรณีที่ไม่จำเป็นเพราะไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด


บุคคลล้มละลายถูกกฏหมายจำกัดอำนาจฟ้องหรือต่อสู้คดีเฉพาะคดีแพ่งเท่านั้น

คำพิพากษาฎีกาที่ 3902/2549 โจทย์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ถูกศาลแพ่งพิพากษาให้ล้มละลาย บริษัทโจทย์ย่อมเลิกกันตามประมวลกฏหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 1236(5) แต่ตามมาตรา 1249 ให้พึ่งถือว่าบริษัทโจทย์ยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี และการชำระบัญชีของโจทย์อันเป็นบริษัทจำกัดซึ่งล้มละลายให้จัดทำไปตามบทกฏหมายลักษณะล้มละลายตามแต่จะทำได้ตามประมวลกฏหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 1247 วรรคแรก และ ซึ่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 มาตรา 24 มาตรา 25 จำกัดอำนาจในการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของลูกหนี้ซึ่งเป็นโจทย์คดีนี้แต่เฉพาะในทางแพ่งเท่านั้น ไม่รวมถึงการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีอาญาด้วย

โจทย์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาข้อหาบุกรุก มิได้มีคำขอบังคับในส่วนแพ่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายหรือขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์   กรณีจึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22(3) ที่โจทก์จะต้องดำเนินการฟ้องร้องโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แต่เป็นกรณีโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายโดยกรรมการผู้มีอำนาจสามารถฟ้องร้องคดีอาญาได้เอง ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3(2) และ 5(3) ประกอบกับมาตรา 28 (2) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ได้


พนักงานอัยการและผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องแยกเป็นอิสระ


อำนาจฟ้องของพนักงานอัยการและผู้เสียหายตามมาตรา 28 เป็นอำนาจของพนักงานอัยการและอำนาจของผู้เสียหายแยกเป็นอิสระห่างจากกัน ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติเรื่องการรวมพิจารณาคดีความอาญาเรื่องเดียวกันของพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นคดีเดียวกันตามมตรา 33 ได้บัญญัติว่า " คดีอาญาเรื่องเดียวกันซึ่งทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียหายต่างได้ยื่นฟ้องในศาลชั้นต้นเดียวกันหรือต่างศาลกัน.."
อีกทั้งมาตรา 34 ก็รับรองสิทธิของผู้เสียหายในกรณีที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีด้วยว่า " คำสั่งไม่ฟ้องคดีหาตัดสิทธิผู้เสียหายฟ้องคดีโดยตนเองไม่ " ดังนั้น อำนาจฟ้องของพนักงานอัยการและผู้เสียหายตามมาตรา 28 จึงเป็นอำนาจที่แต่ละฝ่ายต่างมีอำนาจเป็นอิสระแยกต่างหากจากกัน จะนำหลักเรื่องฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 มาบังคับใช้ในกรณีเช่นนี้ไม่ได้

*คำพิพากษาฎีกาที่ 1646-1469/2515 แม้ผู้เสียหายจะได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาไว้สำนวนหนึ่งแล้ว ก็ไม่มีกฏหมายจำกัดอำนาจพนักงานอัยการมิให้ฟ้องจำเลยนั้นในเรื่องเดียวกัน เป็นคดีใหม่อีกสำนวนหนึ่ง


อำนาจฟ้องคดีอาญาในกรณีที่มีผู้เสียหายหลายคน


คดีอาญาเรื่องเดียวที่มีผู้เสียหายหลายคน เช่นจำเลยขับรถยนต์โดยสารประมาทพลิกคว่ำ ทำให้คนโดยสารที่นั่งมาในรถยนต์บางคนถึงแก่ความตาย บางคนได้รับอันตรายสาหัส และบางคนได้รับอันตรายแก่กาย หรือ จำเลยเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีแพ่งขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นเหตุให้มีบุคคลหลายคนต้องเสียสิทธิในที่ดินไปโดยตรง ( คำพิพากษาฎีกาที่ 2224/2536 ) หรือจำเลยกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ด้วยการโอนที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์รายเดียว แต่มีผู้เสียหายหลายราย เป็นต้น ในคดีอาญาที่มีผู้เสียหายหลายคน เช่นนี้ แม้ความผิดกรรมเดียว และ และผู้เสียหายคนใดคนหนึ่งได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยผู้กระทำผิดไปแล้ว ก็หาเป็นการตัดสิทธิผู้เสียหายคนอื่นๆ ที่ยื่นฟ้องจำเลยในคดีเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ เพราะ ป.วิ.อ. มิได้มีบัญญัติห้ามผู้เสียหายคนอื่นฟ้องผู้กระทำผิดอีก และกรณีเช่นนี้ก็ไม่เป็นฟ้องซ้อน อันจะต้องห้าม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 เพราะผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ในคดีหลังเป็นคนละคนกับผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ในคดีแรก


ข้อสังเกต

(1) ผู้เสียหายคนใดถอนฟ้องย่อมไม่กระทบสิทธิของผู้เสียหายรายอื่นที่จะฟ้องจำเลยได้อีก
(2) ถ้าคดีของผู้เสียหายคนหนึ่งคนใด ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว อำนาจฟ้องของผู้เสียหายคนอื่นในคดีอาญาเรื่องเดียวกันนั้นเป็นอันระงับไปตามมาตรา 39 (4)
(3) ผู้เสียหายคนหนึ่งจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับผู้เสียหายอีกคนที่ยื่นฟ้องไว้แล้วไม่ได้
(4) การรวมพิจารณาคดีอาญาเรื่องเดียวกันตามมาตรา 33 เป็นการรวมพิจารณาคดีของพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นคดีเดียวกัน
(5) คดีเกี่ยวเนื่องกันอาจรวมพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 28 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ได้
(6) ผู้เสียหายหลายคนมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีเป็นคู้ความร่วมได้




References

คำอธิบาย กฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา เล่ม 1

หน้า 465-480

โดย อาจารย์ ธานิศ เกศวพิทักษ์

พิมพ์ครั้งที่ 9 เดือน มกราคม 2555


















2 ความคิดเห็น: